ตั้งเป้าหมายให้เร้าใจ สไตล์ Coaching ตอนที่ 1

ตั้งเป้าหมายการทำงานกับลูกน้องอย่างไรให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น

ในช่วงปลายปีแบบนี้ หลายบริษัท หลายองค์กร เริ่มทำงบประมาณปีหน้า (2559)

และการตั้งงบประมาณขึ้นมาได้นั้น ก็จะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับ “การตั้งเป้าหมาย” ในปีหน้าเช่นกัน

หลายๆ องค์กรมีวิธีการตั้งเป้าหมาย โดยการพูดคุยกันในระดับทีมก่อน 

เพื่อกำหนดเป้าหมายการทำงานกับลูกน้องแต่ละคน

และการตั้งเป้าหมายที่ดีได้ จะทำให้โอกาสที่จะสำเร็จตามเป้ามีมาก 

หลายๆท่านที่เป็นหัวหน้าอาจจะคุ้นเคยกันดีกับการตั้งเป้าหมาย SMART Goal กันดี

แต่สำหรับลูกน้องหล่ะ บางคนอาจจะยังไม่เข้าใจและไม่ได้ตั้งเป้าหมายแบบ SMART มาก็ได้

ดังนั้นหัวหน้าจึงมีส่วนสำคัญที่สามารถจะพูดคุยและใช้โอกาสนี้ในการสอนการตั้งเป้าหมายแบบ SMART

และเป็นการเรียนรู้ไปด้วย ซึ่งในครั้งถัดๆไป ลูกน้องจะก็สามารถตั้งเป้าหมายที่ SMART ได้เองมากขึ้น

เรามาเริ่มต้นกันที่ตัว S กันเลยครับ

 

S - Specific เป้าหมายจะต้องเฉพาะเจาะจงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

เพราะเมื่อลูกน้องได้ Focus อะไรที่ชัดเจนแล้ว สมองจะมุ่งความตั้งใจและความใส่ใจไปที่เป้าหมาย

และความเฉพาะเจาะจงนี้ยังมีประโยชน์ในการวัดผล ว่าเป้าหมายนี้ได้ทำสำเร็จไปแล้วหรือยัง

แต่ถ้าตั้งเป้าหมายที่ไม่ชัดเจน เช่น “ต้องการพัฒนา…” หรือ “ต้องการรับผิดชอบมากขึ้น” 

ก็จะเป็นเป้าหมายที่ยากจะบรรลุได้

ดังนั้นคนที่เป็นหัวหน้าสามารถพูดคุยกับลูกน้องเพื่อช่วยตรวจสอบและปรับให้เป้าหมายมี 

ความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นได้ เช่น

 “เธอต้องการจะทำงานอะไร หรือ Projectอะไรให้สำเร็จในปีหน้าบ้าง”

“ในปีหน้านี้ อะไรที่จะเป็นสิ่งที่บอกว่า เธอประสบความสำเร็จในการทำงานแล้ว”

 หรือในกรณีที่ลูกน้องบอกเป้าหมายกับหัวหน้ามาแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจน

เช่น ผมต้องการรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อหัวหน้าได้ฟังแบบนี้แล้ว สามารถถามต่อได้ว่า

 “พี่รู้สึกดีนะ ที่ได้ยินเธอเล่าถึงความตั้งใจที่จะรับผิดชอบมากขึ้น

เธอช่วยอธิบายให้พี่ได้เข้าใจตรงกับเธอมากขึ้นหน่อยซิว่า การรับผิดชอบมากขึ้น เธอหมายถึงอะไรบ้าง”

 นอกจากนี้หัวหน้าอาจจะใช้เทคนิคการกำหนดเวลาในตอนสิ้นปี 

มาเป็นตัวช่วยให้ลูกน้องอธิบายสิ่งที่ต้องการจะบรรลุได้มากขึ้น เช่น

“เมื่อตอนสิ้นเดือนธันวาคมปีหน้า เธอคิดว่างานไหน…Project ไหนบ้างที่เธอทำมันสำเร็จไปได้ด้วยดี”

หรือ

“เมื่อตอนสิ้นเดือนมิถุนายนปีหน้า เธอคิดว่างานไหน…Projectไหนจะสำเร็จไปแล้วบ้าง”

หรือ

“ในสิ้นปีหน้า เพื่อนคนอื่นๆ ในทีมจะรู้ได้ยังไงว่า งานของเธอสำเร็จแล้วเป็นอย่างดี  

มีกี่Projectบ้างที่เพื่อนๆ คนอื่นจะสังเกตเห็นได้”

 

ตัวอย่างคำถามนี้ เป็นการชวนพูดคุยเพื่อให้หัวหน้าและลูกน้องได้เข้าใจและมีเป้าหมายที่ชัดเจน

ซึ่งจะทำให้โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายมีค่อนข้างสูง 

และที่สำคัญจะเป็นการฝึกให้ลูกน้องได้เรียนรู้และคิดอย่างลึกซึ้งมากขึ้นว่า

“อะไรคือสิ่งที่เขา (ลูกน้อง) ต้องการทำให้สำเร็จอย่างชัดเจนในการทำงานในปีถัดไป”

ลองนำเทคนิคเหล่านี้ไปพูดคุยกับลูกน้องเพื่อช่วยปรับเป้าหมายให้เป็นเป้าที่มีความ “เฉพาะเจาะจง” มากขึ้นได้นะครับ

ในบทความถัดไป เราจะมาพูดถึงวิธีการพูดคุยกับลูกน้องให้ตั้งเป้าหมายแบบ SMART ในตัวถัดๆไปกันนะครับ

 

 

คิดบวก คิดถึง Dr.fish 

“Coaching Skill for Manager/Leader”

 ณกรณ์ ชัยณกุล

Performance Coach, Trainer, Author
Associate Certified Coach (ACC), International Coach Federation

แบบฟอร์มติดต่อกลับ

Visitors: 825,177