มอบหมายงานและติดตามงานลูกน้องให้ได้งานและได้ใจ
การทำงานในยุคปัจจุบันสิ่งที่เป็นความท้าทายของหัวหน้างานนั้นนอกเหนือจากงานที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแล้วนั้น
สิ่งที่หัวหน้างานต้องเจอความท้าทายเพิ่มเติมนั่นคือ การทำงานร่วมกับคนในองค์กร
ไม่ว่าจะเป็นจาก ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน รวมถึงลูกค้าภายนอกที่ใช้บริการ
เพราะในยุคที่ทุกคนต้องเจอความรวดเร็วทางความคิด เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งหากเราเปลี่ยนแปลงช้า หรือย่ำอยู่กับที่ย่อมทำให้โอกาสในการเติบโตลดน้อยลงไปครับ
ดังนั้น สิ่งที่หัวหน้างานจำเป็นต้องทำความเข้าใจในบทบาทของการปกครองดูแลทั้งเรื่องงาน และเรื่องคน
เพื่อให้งานเดินหน้าไปสู่เป้าหมายตามนโยบายขององค์กรนั้นต้องคำนึงถึงการทำงานร่วมกัน
ที่เดินไปในทิศทางเดียวกันโดยให้ลูกค้าเป็นจุดศูนย์กลางที่ต้องคำนึง
และใช้กำลังภายในจากการประสานงานร่วมกันทุกภาคส่วนให้สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ส่งมอบบริการที่รวดเร็ว
โดยเริ่มต้นจากที่ทุกคนเน้นการจับถูกให้มากกว่าจับผิด
จับถูก คือ การมองคนอื่นในด้านดี ชื่นชม ให้กำลังใจ ไม่ซ้ำเติมคนที่ผิดพลาด
จับผิด คือ การมองคนอื่นในด้านลบ อคติ อิจฉา ริษยา จ้องมองแต่ความผิดพลาดของคนอื่น
เพราะหากวันนี้คนทำงานในองค์กรจ้องแต่การมองจับผิดมากกว่าจับถูก
ขาดการประสานงานที่ดีทั้งแผนกตนเองรวมถึงแผนกข้างเคียง ขาดการสื่อสารที่ดี
เกิดอคติใช้อารมณ์เหนือเหตุผลในการทำงานย่อมทำให้เกิดการทำงานที่ผิดพลาด
และเมื่อผิดพลาดหากเรามัวแต่มองด้วยการจับผิดเราก็จะโทษกันไปมาไม่จบไม่สิ้น
ส่งผลถึงการทำงานจากภายในสู่ภายนอกกระทบถึงการผลิต การขนส่ง การบริการ เพราะต่างฝ่ายต่างไม่พูดคุยกัน
กลับกันหากวันนี้เราเน้นด้านการจับถูก สื่อสารกันให้มากขึ้น มองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน
ร่วมแรงร่วมใจในการทำงาน ประสานงาน หากเจอความผิดพลาดก็พูดคุยกันให้มากขึ้น
เพื่อใช้เหตุและผลในการแก้ไขปัญหาจากงานที่เกิดขึ้นย่อมดีกว่าทะเลาะกันและทำให้เกิดอคติต่อการทำงาน
เพราะหากเราเกิดอคติต่อกันในการทำงานย่อมทำให้เกิดความล่าช้าในการทำงานที่เกิดจากใจเราไม่อยากพูดคุยกันครับ
อย่าลืมว่า หากวันนี้องค์กรอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ครับ ทว่า หากองค์กรอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้เช่นกันครับ
ซึ่งในยุคนี้หัวหน้างานจำเป็นต้องเป็นผู้ที่กำหนดงาน วางแผนงาน มอบหมายงาน สอนงาน ติดตามงาน ประสานงานได้กับทุก ๆ ฝ่าย
โดยใช้มนุษย์สัมพันธ์ที่ดี อ่อนน้อมถ่อมตน เพื่อสามารถเข้ากับคนได้ทุก ๆ กลุ่ม
โดยเฉพาะการทำงานร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชาที่หัวหน้าต้องทำความเข้าใจ
เพื่อการมอบหมายงานและติดตามงานให้ถูกคนมากกว่าใช้คนทำงานผิดประเภท
เช่น หากลูกน้องเราชอบพูดชอบคุย ชอบงานที่นอกกรอบ แต่เราใช้ทำงานเอกสารที่มีความละเอียดที่ค่อนข้างสูง
ซึ่งอาจทำให้ลูกน้องคนนี้ขาดความสุขในการทำงานเพราะคนที่ชอบพูดคุยสื่อสาร คิดนอกกรอบ คงไม่ชอบงานที่เป็นขั้นเป็นตอน จริงไหมครับ !!
ดังนั้นหัวหน้างานยุคใหม่ต้องเข้าใจ และสังเกตพฤติกรรมของลูกน้อง
เพื่อการมอบหมายงานและติดตามงานให้ลูกน้องทำงานได้อย่างมีความสุข
โดยผมขอแบ่ง ลูกน้อง 4 ประเภทเพื่อการมอบหมายงานและติดตามงานลูกน้องให้ได้งานและได้ใจ ดังนี้
1.ลูกน้องประเภท The Star
บุคลิกลูกน้องประเภทนี้ ผมขอให้นิยามว่า เป็นพนักงานมืออาชีพ เพราะมีลักษณะเป็นคนที่มีความคิดในเชิงบวกมาก ๆ
ชอบการพัฒนาตนเอง ชอบความท้าทาย ไม่กลัวปัญหา มองบวกเสมอ และพร้อมยอมรับการเปลี่ยนแปลงทันที
ในส่วนของงานที่ได้รับมอบหมาย ก็สามารถทำงานได้ตรงเวลา มีความรับผิดชอบในงานที่ทำ
ซึ่งผมเชื่อว่า เราคงอยากได้ลูกน้องประเภทนี้แน่นอน
การมอบหมายงานลูกน้องประเภทนี้ ควรมอบหมายงานที่ท้าทาย เพราะมีความเก่งในตัว มีความคิดเชิงบวกในตัว
คนเก่งมักไม่ชอบงานเดิม ๆ ที่ไร้ซึ่งการพัฒนาตนเอง ระดับความยากของงานต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
การติดตามงาน ควรให้อิสระทางความคิด ใช้หลักการ ติดตามห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ มากกว่าไปจู้จี้จุกจิกกวนใจ
เดินตามกรอบเป๊ะ ๆ เชื่อผมเถอะ ! ว่า ลูกน้องประเภทนี้มีความรับผิดชอบงานแน่นอน
แค่เราให้ Time line ที่ชัดเจนในการส่งงาน ถึงเวลางานมาแน่นอนครับ
สรุปลูกน้องประเภทนี้ เป็นลูกน้องในฝันของหัวหน้างานจริงไหมครับ !
แต่ความเป็นจริงแล้วลูกน้องประเภทนี้มีไม่มากในองค์กร ต้องทำใจนะครับ
ที่ต้องเจอกับโลกแห่งความเป็นจริง อีก 3 ประเภท นั่นคือ
2.ลูกน้องประเภท Work Horse
บุคลิกลูกน้องประเภทนี้ ผมขอนิยามว่า ม้าขยัน ลูกน้องประเภทนี้มีความคิดเชิงบวก พร้อมเรียนรู้ พร้อมพัฒนาตนเอง
ไม่เถียง รับฟังสิ่งที่หัวหน้างานมอบหมายงาน แต่ ลูกน้องประเภทนี้มีข้อเสีย คือ การทำงานที่ผิดพลาดอยู่บ่อย ๆ
ซึ่งเกิดจาก ไม่เข้าใจคำสั่งในงาน แต่ก็ไม่กล้าสอบถาม และเผลอทำงานที่ผิดพลาดออกมา
ทำให้เกิดผลเสียในเรื่องคุณภาพของงานที่ต้องส่งให้ส่วนงานอื่น ๆ หรือลูกค้า
การมอบหมายงานลูกน้องประเภทนี้ ควรมอบหมายงานที่ไม่ยากจนเกินไปในช่วงเริ่มต้น
เพราะเขายังไม่เข้าใจกระบวนการการทำงานที่ต้องทำ ยังไม่เข้าใจเนื้องานที่ได้รับมอบหมายมากเพียงพอ
และไม่กล้าถามหัวหน้างานเพื่อยืนยันสารที่ส่งมา ดังนั้นหัวหน้างานต้องค่อย ๆ ให้งานที่ง่าย ๆ ก่อน
มีการสื่อสารที่เน้น 2 ทาง มีการโต้ตอบสอบถามลูกน้อง เช่น มีคำถามไหม ! หลังจากที่ได้ให้งานลูกน้อง
หรือ ถ้าลูกน้องบอกเข้าใจ ลองให้ลูกน้องทวนกลับเพื่อดูข้อมูลว่าตรงกับที่หัวหน้างานต้องการหรือไม่
เพื่อลดความผิดพลาดในอนาคตของงานที่ทำ
การติดตามงาน ลูกน้องประเภทนี้ควรติดตามงานอย่างใกล้ชิดในช่วงเริ่มต้น เพื่อการสอนงาน
การควบคุมงานให้อยู่ในแผนที่วางไว้ หรือ ตรวจสอบงานที่ลูกน้องทำ
เพราะลูกน้องประเภทนี้ยังผิดพลาดในงานที่ทำอยู่หากหัวหน้างานใจเย็น ค่อย ๆ สอน
และฝึกให้ลูกน้องเข้าใจในการทำงานที่มากขึ้น วันหนึ่งเขาจะเป็นลูกน้องประเภทแรกนั่นคือ The Star
เพราะลูกน้องประเภทนี้มีข้อดี คือความคิดที่เป็นเชิงบวกเป็นพื้นฐานอยู่แล้วครับ
แก้แค่เรื่องงานวันหนึ่งลูกน้องประเภทนี้จะเป็นกำลังสำคัญให้หัวหน้างานได้แน่นอนครับ
3.ลูกน้องประเภท Problem Child
บุคลิกลูกน้องประเภทนี้ เป็นลูกน้องที่เก่ง มีความสามารถ หรือพูดแบบภาษาบ้าน ๆ นั่นคือ เด็กมันมีของ
แต่การมีของในบุคลิกของลูกน้องประเภทนี้ กลายเป็นส่งผลแง่ลบในบางครั้ง โดยเฉพาะเรื่อง ความคิดที่ค่อนข้างมีทัศนคติที่มีอีโก้สูง
ไม่รับฟังแนวคิดของผู้อื่น นอกเหนือจากความคิดของตนเองเป็นใหญ่ ชอบทำงานที่นอกเหนือจากการควบคุม
ไม่เดินตามแผนที่วางไว้ เพราะการทำงานในยุคปัจจุบันต้องยอมรับว่า
เก่งแค่ไหนก็ทำงานตัวคนเดียวไม่ได้ ซึ่งลูกน้องประเภทนี้ต่างจากประเภทที่สอง Work Horse ที่ความคิดยังบวก พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
แต่ลูกน้องประเภทนี้มีความมั่นใจค่อนข้างสูงมาก ๆ จนบางครั้งหัวหน้างานบางคนที่ผมเคยเจอบอกผมว่า เหนื่อยใจ
แต่อย่างน้อยข้อดีของลูกน้องประเภทนี้ คือ มีความสามารถ ทำงานได้อย่างรวดเร็วทันใจมาก ๆ
มีความคิดนอกกรอบกล้าทำสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะงานบางงานเราอาจต้องใช้ลูกน้องประเภทนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การมอบหมายงาน ลูกน้องประเภทนี้ต้องมอบหมายงานที่ท้าทาย คล้าย ๆ กลุ่มแรก The Star
เพราะข้อดีของลูกน้องประเภทนี้ คือ มีความสามารถมีความเก่งในตัวเองอยู่แล้ว เขาไม่ชอบงานที่เป็นงานง่าย ๆ ไม่ท้าทาย
แต่ข้อควรระวัง คือ งานบางอย่างหัวหน้างานต้องให้เหตุและผลในการทำงาน
เพราะงานบางอย่างถ้าผิดพลาดแล้วอาจเกิดความเสียหายส่งผลต่อภาพรวมได้
ต้องกล้าอธิบายให้ลูกน้องเข้าใจ หากลูกน้องประเภทนี้อยากขอทำ หรือหากหัวหน้างานประเมินงานแล้วว่า
พูดไปลูกน้องประเภทนี้ก็ไม่ค่อยฟัง และถ้าให้ลูกน้องประเภทนี้ลองทำดูก็ไม่เสียหายก็ควรเปิดโอกาสมากกว่าปิดกั้นความคิด
เพราะหากงานนั้นดีกว่าที่คิดไว้ อาจทำให้เกิดการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ก็ย่อมได้นะครับ เพียงแต่ต้องคุยให้ดีก่อนลงมือทำ
การติดตามงาน ลูกน้องประเภทนี้ควรติดตามงานห่าง ๆ อย่างห่วง ๆ คือ ให้อิสระต่อเขา อย่าไปประกบใกล้ชิดมากเกินไป
จนกลายเป็นการจับผิด ซึ่งลูกน้องประเภทนี้ต้องการอิสระทางความคิดและเป็นผู้นำในงานบางอย่าง
ผมเชื่อนะครับ ลูกน้องประเภทนี้ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด ถึงแม้บางครั้งจะนอกกรอบ ไม่เดินตามแผน
แต่หากเราสื่อสารด้วยเหตุด้วยผล ลูกน้องประเภทนี้ก็พร้อมรับฟัง ทว่า หัวหน้างานบางคนดันไปปิดกั้นอิสระทางความคิด
และใช้อารมณ์กับลูกน้องประเภทนี้ บอกเลย พัง ครับเพราะคนที่มีอีโก้เขาอยากฉายแสง
หากเราปิดกั้นย่อมทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเปิดรับทั้งหมด
หากหัวหน้างานประเมินความเสี่ยงแล้วว่าไม่เหมาะสมก็ต้องคุยกันให้เข้าใจ
4.ลูกน้องประเภท Dead Wood
บุคลิกลูกน้องประเภทนี้ ผมเรียกว่า ไม้ตากซาก ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก ๆ ครับ เพราะวัน ๆ ไม่สนใจงานการ ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง
ไม่พัฒนาตนเองให้ก้าวไปข้างหน้า มีแต่การมองในด้านลบมากกว่าบวก ซึ่งโดยส่วนมากเป็นคนที่รู้มาก แต่มักไม่ค่อยลงมือทำ
และหากมีลูกน้องประเภทนี้อยู่มาก ๆ ย่อมเหนื่อยใจนะครับ ซึ่งต่างจาก กลุ่ม Work Horse หรือ Problem Child ที่ยังมีด้านดีอยู่
แค่ปรับด้านที่เป็นข้อเสีย ย่อมกลายเป็น The Star ไม่ยากครับ แต่ลูกน้องประเภทนี้ ต้องทำอย่างไรถึงจะได้งาน
การมอบหมายงาน ควรให้งานที่ไม่สำคัญมากเกินไป เพราะหากให้งานที่สำคัญและไร้ซึ่งความรับผิดชอบ
ย่อมทำให้เกิดผลเสียหายในอนาคตได้ ดังนั้น ควรให้งานที่ง่าย ๆ ดีกว่าครับ เพื่อลดบทบาทลงมาเป็นการเตือนสติว่า
หากไม่สนใจงาน ขาดความรับผิดชอบ ย่อมส่งผลถึงอนาคตการทำงานในภายภาคหน้าแน่นอน
การติดตามงาน ลูกน้องประเภทนี้ต้องติดตามงานอย่างใกล้ชิด เพื่อดึงผลงานให้เกิดเป็นรูปธรรมให้มากที่สุด
ต้องคอยสอบถามถึงงานเป็นระยะ ๆ จะปล่อยให้อิสระในการทำงานไม่ได้
รวมถึงต้องกล้าเรียกมาพูดคุยเพื่อปรับทัศนคติให้เห็นคุณค่าและประโยชน์จากการทำงานให้มากขึ้น
ซึ่งการเรียกมาพูดคุย ถือว่าเป็นการตักเตือนด้วยวาจา เพราะหากยังไม่ยอมเปลี่ยนความคิด ทัศนคติ พฤติกรรมในการมองงานให้ดีขึ้น
อนาคตอาจต้องตักเตือนตามรูปแบบของกฎระเบียบของบริษัท ฯ ต่อไป
เช่น เตือนเป็นหนังสือ พักงาน ตัดเงินเดือน และมาตรการสุดท้าย
คือ การเลิกจ้าง แต่นั่นคือ หมดหนทางในการเยียวยาต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้ดีขึ้นนะครับ
สรุป ผมเชื่อนะ คนทุก ๆ คนหากได้สื่อสารกันมากขึ้น ปรับทัศนคติให้เข้าที่ลูกน้องทุกประเภทย่อมมีความคิดที่เป็นบวก
และเมื่อความคิดเป็นบวก ย่อมส่งผลถึงการทำงานในภาพรวมที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน
เพราะหากทุกคนมีความสุขพร้อมเริ่มต้นเช้าวันใหม่ด้วยการตื่นตัว มีพลัง ทำสิ่งใดก็สำเร็จไม่ยากครับ
ฝากบทความนี้เตือนสติให้หัวหน้างานทุกท่านรู้จักเลือกใช้เครื่องมือต่าง ๆ ให้เหมาะกับกลุ่มคนเพื่อการทำงานที่ราบรื่นและประสบผลสำเร็จครับ
อ.มงคล กรัตะนุตถะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ด็อกเตอร์ฟิช จำกัด
อีเมล์ mongkhol05@gmail.com Website : www.drfish.training โทร 0633649356
คิดบวก คิดถึง ด็อกเตอร์ฟิช