5 พฤติกรรมที่ผู้นำไม่ควรทำต่อลูกน้องในทุก ๆ วัน

การเป็นหัวหน้างานที่ดีได้นั้น จำเป็นที่ต้องเข้าใจบทบาทของการนำลูกน้อง

เพื่อเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างไป คนละทิศคนละทาง

แบบนั้นคงยากที่จะประสบความสำเร็จตามที่องค์กรคาดหวังไว้

ดังนั้น เมื่อเราถูกแต่งตั้งให้ขึ้นมานำทีมแล้วไซร้ การเข้าใจบทบาทย่อมมีความสำคัญ

โดยเฉพาะ คำว่า “ภาวะผู้นำ” ที่ผู้นำทุกคนควรตระหนักในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ

มากกว่าอำนาจที่ได้รับในแต่ละวัน ซึ่งหากพูดถึง “ภาวะผู้นำ” ในมุมมองของผู้เขียนนั้น

ผมเชื่อว่าคนที่มีภาวะผู้นำสิ่งแรกที่เขาจะใช้ก่อน คือ เรื่องของใจ หรือพูดแบบง่าย ๆ คือ

อยากได้อะไรจากใคร เขาจะพร้อมให้คนอื่นแบบนั้นก่อนเสมอ

เช่น อยากได้รอยยิ้มจากคนรอบข้าง คนที่มีภาวะผู้นำเขาจะไม่รอให้คนอื่นมายิ้มก่อนแต่พร้อมจะยิ้มให้คนอื่นก่อนเสมอ

หรือ อยากได้การเคารพให้เกียรติจากคนรอบข้าง คนที่มีภาวะผู้นำเขาจะพร้อมให้ความเคารพต่อผู้อื่น

ให้เกียรติผู้อื่นในการทำงานร่วมกันอยู่เสมอดังนั้น คนที่มีภาวะผู้นำ  

 

ต้องพร้อมที่จะนำคนอื่น มีความคิดในเชิงบวกอยู่เสมอ มองโลกตามความเป็นจริงไม่ยึดติด  

พร้อมเปิดใจรับฟังสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเพื่อให้การทำงานนั้นดีขึ้นในทุก ๆ วัน

เป็นตัวอย่างที่ดีให้ผู้ตามได้เห็นและนำไปปรับใช้เพื่ออนาคตในวันข้างหน้า

 รู้จักกระตุ้น จูงใจ ให้กำลังใจได้ในวันที่ผู้ตามท้อถอยและกล้าที่จะแนะนำ  สอนในสิ่งที่ดี

เพื่อกระตุ้นความคิดให้ผู้ตามมีแนวทางในการพัฒนาตนเอง และพัฒนางานให้ดีขึ้นในทุก ๆ วัน

 

นั่นคือ สิ่งที่ผมเชื่อว่า ผู้นำที่ดีควรต้องปฏิบัติ แต่เชื่อไหมครับ จากประสบการณ์ที่ผมทำงานด้านบุคคล

และปัจจุบันผันตัวเองมาเป็นวิทยากรแก้ไขปัญหาให้องค์กรต่าง ๆ ผมพบว่า ปัญหาที่คนส่วนใหญ่ลาออกมักเกิดจาก

หัวหน้างาน เพราะหัวหน้างานบางคน ไม่เข้าใจในบทบาทของการเป็น ผู้นำที่มีภาวะผู้นำ และมักใช้อำนาจ

ใช้คำพูด ใช้กิริยาท่าทางที่ไม่ดี จนทำให้ลูกน้องขาดความเคารพจนสุดท้ายทนไม่ไหว ก็ลาออกไป

เราลองมาสำรวจตนเองกันดีไหมครับ กับ 5 พฤติกรรมที่ผู้นำไม่ควรทำต่อลูกน้องในทุก ๆ วัน

มีอะไรบ้างตามมาอ่านกันครับ

1.ขาดการเคารพให้เกียรติลูกน้อง

เพราะการสวมบทบาทของหัวหน้างาน คือ การใส่หัวโขน ซึ่งหัวโขนที่ใส่อยู่นั้น ก็ไม่ควรทะนงตนว่า

เราคือ หัวหน้างานมีอำนาจในการสั่งงาน ชี้นิ้วกับลูกน้อง เพราะการเอาแต่ชี้นิ้ว แต่ไม่เคยสอน

ไม่เคยคุย ไม่เคยถาม ลูกน้อง จะทำให้การทำงานตรึงเครียดมากกว่าทำงานด้วยความสนุกสนาน

วันนี้ลองทำแบบใหม่นั่นคือ เจอหน้าลูกน้องก็เริ่มด้วยการทักทายพูดคุย ถามสารทุกข์สุกดิบกันบ้างก่อนเริ่มทำงาน

สร้างความพร้อมก่อนเริ่มงานด้วยการพูดคุยเน้นย้ำเป้าหมายในสิ่งที่ทำ หากเจอปัญหาก็หันหน้ามาคุยกันแก้ไขปัญหาไป

ด้วยกันมากกว่าปล่อยปัญหาสะสมจนยากจะแก้ไข  หรือ หากเรามีลูกน้องที่อายุมากกว่าก็ลองให้เกียรติลูกน้องคนนั้น

ด้วยการยกมือไหว้สวัสดี เปิดการทักทายต่อลูกน้องก่อน  ดีกว่าทำตัวนิ่ง ๆ หน้าบึ้ง ๆ เพราะการครองใจผู้อื่นได้นั้น

เราต้องเริ่มต้นจากการให้ใจคนอื่นก่อน จำไว้ว่า เราเปลี่ยนแปลงคนอื่นไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนแปลงตัวเราเองได้ครับ

 

2. ตำหนิผลงานที่ผิดพลาดต่อหน้าลูกน้องคนอื่น

การเป็นหัวหน้างานที่ดีได้นั้น ต้องคำนึงเรื่องการพูดอยู่เสมอ เพราะก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด

แต่เมื่อพูดไปแล้วคำพูดจะเป็นนายเราย่อมยากที่จะหวนคืนกลับมา

ดังนั้น จงคิดก่อนพูดทุกครั้งและอย่าใช้คำพูดที่ทำให้ลูกน้อง เสียหาย เสียหน้า เสียใจ และเสียความรู้สึก

โดยเฉพาะการตำหนิผลงานที่ผิดพลาดต่อหน้าลูกน้องคนอื่นเป็นสิ่งที่หัวหน้างานที่ดีจะไม่ทำกัน

ซึ่งหากต้องการตำหนิควรเรียกมาพบเป็นการส่วนตัวย่อมดีกว่า

ยกเว้นกรณีที่ผลงานของลูกน้องคนนั้นทำได้ดี ก็ควรชื่นชมต่อหน้าลูกน้องคนอื่น ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป

 

3. ปิดกั้นความคิดเห็นของลูกน้อง

การทำงานส่วนที่สำคัญมาก ๆ คือ ทักษะการฟัง ฟังให้เข้าใจ และแยกแยะข้อมูล เพื่อนำมาพิจารณาตัดสินใจ

มากกว่าฟังเสียงตัวเองเพียงข้างเดียว เพราะการทำงานคนที่รู้ดีที่สุด คือ คนที่อยู่หน้างาน หากเรากล้าเปิดใจถามลูกน้อง

และฟังเสียงลูกน้องด้วยความเป็นธรรม จริงใจ เราจะได้ข้อมูลที่หลากหลาย ทั้งนี้ ลูกน้องคงไม่มีอำนาจตัดสินใจ

แทนหัวหน้างาน แต่การได้ข้อมูลที่มาก ๆ ย่อมดีกว่าที่ไม่มีข้อมูลใด ๆ เลยจริงไหมครับ !!

อีกอย่าง หากเราปิดกั้นความคิดของลูกน้องมากเท่าไหร่ ถึงเวลาเมื่อเราเปิดใจฟังลูกน้องมากขึ้น

ก็อาจสายเกินแก้ เพราะลูกน้องอาจไม่กล้าพูด หรือไม่อยู่พูดแล้วก็ได้ครับ

 

4.สื่อสารไม่ชัดเจนในการมอบหมายงาน

การมอบหมายงานมี 2 แบบ คือ แบบปากเปล่า และลายลักษณ์อักษร

ทั้งนี้ การมอบหมายงานโดยเฉพาะ วาจา ทุกครั้งเวลามอบหมายงานต้องพูดให้ชัดเจน

และเฉพาะเจาะจงมากกว่า พูดห้วน ๆ สั้น ๆ  เช่น พรุ่งนี้นำงานมาส่งพี่ตอนเช้าบนโต๊ะทำงานนะ

จะสังเกตว่า ตัวอย่างที่ให้ไม่ค่อยชัดเจนเท่าไหร่ เพราะคำว่า “เช้า” ตีความหมายได้หลายเวลา

ซึ่งหากเราไม่ได้ทวนคำพูดนั้นกลับจากลูกน้องย่อมอาจเกิดการคลาดเคลื่อนในเรื่องเวลาไม่มากก็น้อยนะครับ

กลับกัน หากเราพูดว่า พรุ่งนี้นำงานมาส่งพี่ตอนเช้า เวลา 9.00 น.บนโต๊ะทำงานนะ

และก่อนให้ลูกน้องไปทำงาน ก็ทวนคำสั่งนั้นอีกครั้งจากกลูกน้อง เพื่อให้การสื่อสารตรงกันทั้งผู้ส่งสาร คือ หัวหน้า

และผู้รับสาร คือ ลูกน้อง ย่อมมีโอกาสทำให้งานเดินไปได้อย่างราบรื่นไม่สะดุดหัวทิ่มจนงานหลุดเกิดความผิดพลาดครับ

ทั้งนี้ หากลูกน้องนำงานมาส่งก่อนเวลา ก็ควรชมบ้างเพื่อเป็นกำลังใจ แต่หากยังไม่ถึงเวลานัดหมาย

ก็ไม่ควรไปเร่งจี้เอางานนั้นนะครับ ยกเว้นอาจเดินไปไถ่ถาม ด้วยคำพูดเชิงการให้คำปรึกษา

เช่น งานเป็นอย่างไรบ้าง ติดขัดตรงไหนให้พี่ช่วยไหม เพื่อทำให้ลูกน้องเกิดขวัญกำลังใจที่ดี

ในการเป็นห่วงจากหัวหน้างาน ลองดูนะครับ

 

5.ทำหน้าท้อเรื่องงานต่อหน้าลูกน้อง

บางครั้งคนเราย่อมมีอาการท้อถอยกับงานได้ ซึ่งไม่ผิดหรอกครับ เป็นเรื่องปกติ

แต่การท้อต่อหน้าลูกน้อง ก็ไม่ควรทำเช่นเดียวกัน เพราะหากวันนี้หัวหน้ายังไม่เชื่อในงานนั้น ๆ ที่ทำ

ลูกน้องก็ย่อมไม่เชื่อมั่นในตัวหัวหน้างานเช่นเดียวกัน ดังนั้น การเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกน้องทั้งเรื่องงาน

และเรื่องส่วนตัว คือสิ่งที่หัวหน้างานที่ดีต้องคำนึงอยู่เสมอ  ทั้งนี้ ทุกครั้งที่เจอปัญหาในการทำงาน

จงอย่าเลือกคิดแก้ไขปัญหาเพียงลำพัง แต่ควรใช้หลักคิดการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

โดยให้ลูกน้องช่วยกันเสนอความคิดเห็นในการประชุมงาน อาจเป็นรายวัน หรือ รายสัปดาห์

เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกันมากกว่าที่หัวหน้างานเอาแต่เครียดอยู่คนเดียว และทางเลือกในการแก้ไขปัญหา

จะมีมากมายจนเราที่เป็นหัวหน้างานนึกไม่ถึงเลยทีเดียวครับ

เชื่อผมเถอะ

 

Work Shop

จงกล้ารับฟังลูกน้องวันละเรื่อง โดยไม่ตัดสินสิ่งที่ฟัง แล้วเก็บข้อมูลที่ฟังบันทึกลงสมุด

จากนั้น 1 สัปดาห์ลองนำมาอ่านและวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหา

หรือ พัฒนางานต่อไป

Visitors: 825,223